เปิดใจ “น้องคำหล้า” ลูกครึ่งเว้าอีสาน แฟนนางงามเชียร์ชิงมง MUT

น้องคำหล้า สาวลูกครึ่งไทย-นอร์เวย์ขวัญใจชาวโซเชียล ขอบคุณแฟนนางงามเอ็นดู เชียร์ให้ลงประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์

น้องคำหล้า-คามิลล่า โจแฮนเซน ลูกครึ่งไทย-นอร์เวย์ที่พูดภาษาอีสานชัดแจ๋ว ยิ่งโตยิ่งสวยถึงขั้นแฟนนางงามส่งเสียงเชียร์ให้มาร่วมประกวดนางงามเวทีใหญ่อย่างมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์

ในวัย 14 ปี ลูกสาวของ แม่ดาว โจแฮนเซน น้องสาวของพี่ชายสุดหล่อ อ้ายกึ่ม-มาร์ติน โจแฮนเซน ที่เป็นขวัญใจชาวโซเชียล ยอมรับกับ ว่า มีความสนใจเข้าร่วมประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ตามที่มีเสียงเชียร์

แต่ก็เป็นเรื่องของอนาคต ที่ยังไม่น่าจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ เพราะอายุยังน้อยเกินไป ในโลกกว้างใบนี้ยังมีอะไรให้ต้องเรียนรู้อีกหลายอย่าง ต้องเก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้มากกว่านี้ก่อน โดยตอนนี้โฟกัสไปที่การเรียน

“อยากไปประกวดนางงามที่ไทยแลนด์เหมือนกันค่ะ และก็อยากเป็นดาราเหมือนกัน”

คำหล้า บอก นอกจากอยากสัมผัสประสบการณ์บนเวทีประกวดนางงามแล้ว เธอก็อยากสัมผัสประสบการณ์ในวงการบันเทิงไทยเช่นกัน

ปัจจุบัน คำหล้า อาศัยอยู่กับครอบครัวที่อบอุ่นในเมืองเบอร์เกน ประเทศนอร์เวย์สามารถในการสื่อสารได้หลายภาษา ไม่ว่าจะเป็นภาษานอร์เวย์ภาษาไทย ภาษาอีสาน และกำลังลงเรียนภาษาสเปน บอกต่อว่า ที่ผ่านมาเมื่อปิดเทอม คุณพ่อคุณแม่จะพาเธอและพี่ชายกลับมาเยี่ยมคุณตาคุณยายที่ประเทศไทย
ปีนี้มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบกับการดำเนินชีวิตของผู้คนทั่วโลก ไม่สามารถเดินทางได้ ทำให้รู้สึกคิดถึงประเทศไทยมาก โดยเฉพาะบ้านเกิดของคุณแม่ดาว ที่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น

“คำหล้าชอบความเป็นอยู่แบบอีสาน และก็ชอบอาหารอีสานมากๆ ค่ะ ชอบลาบเป็ด ชอบข้าเหนียวหมูปิ้ง อยู่ที่นอรเวย์ก็กินแต่อาหารอีสานที่คุณแม่ทำให้กิน ไม่ชอบกินขนมปัง ไม่ชอบกินอาหารฝรั่ง แซ่บสู้อาหารอีสานไม่ได้”

ถามว่าคิดว่าเป็นฝรั่งหรือคนอีสาน สาวใสวัยกำลังน่ารัก ตอบทันควัน “เป็นคนอีสานค่ะ” และบอกเพิ่มเติมว่า เธอชอบชื่อ “คำหล้า” มาก ตอนแรกที่ได้ยินคุณแม่เรียกไม่เข้าใจว่ามีความหมายอย่างไร แต่ตอนนี้เข้าใจแล้วว่าหมายถึงน้องสาว สอดคล้องกับที่คุณแม่เรียกมาร์ตินว่า “อ้ายกึ่ม” หมายถึงพี่ชาย

คำหล้า บอกอีกว่า เวลาเธอ และพี่ชายพูดอีสาน แล้วมีคนหัวเราะ ก็ไม่ได้รู้สึกอะไร คิดในแง่บวกว่าเป็นการแสดงความชื่นชมที่ได้ยินหนุ่มสาวลูกครึ่งพูดภาษาอีสาน

ขณะเดียวกัน แม่ดาว ที่มาร่วมพูดคุยข้ามทวีปด้วย บอกว่า รู้สึกภูมิใจที่ลูกๆ ซึมซับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และศิลปวัฒนธรรมอีสานจากแม่ไปเต็มๆ จนมีความมั่นใจว่าพวกเขาเป็นคนอีสานไม่ได้เป็นฝรั่ง

อย่างไรก็ตาม แม้การอาศัยอยู่ที่ประเทศนอร์เวย์จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี รัฐมีสวัสดิการให้เด็กตั้งแต่แรกเกิด และมีสวัสดิการให้กับคนที่ทำงาน แต่แม่ดาวก็ยังสอนลูกๆ ด้วยการเน้นให้เห็นคุณค่าของเงิน เวลาลูกๆ มาขอเงินไปเปิดหูเปิดตานอกบ้านต้องทำงานแลกเปลี่ยน

“เราเคยจนมาก่อน ที่มาอยู่นอรเวย์มีแฟนฝรั่งก็เพราะความจน ทุกครั้งที่ลูกๆ มาขอเงินก็จะบอกพวกเขาว่า กว่าจะหาเงินได้แต่ละบาทไม่ง่ายต้องทำงานถึงจะมีเงิน เวลาเขาอยากได้อะไร ก็จะบอกให้เขาทำงานก่อน ช่วยแม่ทำพริกทอดขาย ทำความสะอาดบ้าน ตัดต้นไม้ ทำอะไรแบบนี้ก่อน สอนให้ไม่อายทำกิน ซึ่งพวกเขาก็พูดรู้เรื่อง”